แนะนำให้อ่าน เทคนิคการเลี้ยงกบให้ประสบความสำเร็จก่อนเรื่องอื่นๆ ที่นี่
พันธุ์กบ
พันธุ์กบที่เหมาะสม(ข้อมูลปี 2550) คือ กบนา ที่ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสีเหลือง มีอัตราการเจริญเติบโตดี
ลักษณะกบพ่อแม่พันธุ์ที่พร้อมผสมพันธุ์
• ตัวผู้ มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย มีถุงเสียงใต้คาง สีสันบนตัวจะเหลืองกว่าตัวเมีย
• ตัวเมีย มีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ไม่มีถุงเสียงใต้คาง ตัวเมียที่ไข่แก่ท้องจะโป่งนูนเห็นได้ชัด
• แม่พันธุ์ ควรมีอายุ 8 เดือน ขึ้นไป และไข่จะสมบูรณ์เต็มที่ เมื่ออายุ 1 ปี โดยมีน้ำหนักตัว 330 กรัม ขึ้นไป หรือขนาด 3 ตัวต่อกิโลกรัม ไข่ต้องแก่จัด มีสีดำ ข้างลำตัวทั้งสองด้านเมื่อเอามือลูบจะสาก ท้องค่อนข้างใหญ่
• พ่อพันธุ์ จะมีขนาดเล็กกว่าแม่พันธุ์ ควรมีอายุ 8 เดือน ขึ้นไป โดยมีน้ำหนักตัว 200-250 กรัม หรือ 4-5 ตัวต่อกิโลกรัม จะต้องคึก ดูได้จากเมื่อสอดนิ้วมือเข้าระหว่างขาหน้าทั้งสอง พ่อพันธุ์จะรัดแน่น
การเลี้ยงและการจัดการกบพ่อแม่พันธุ์
• บ่อที่ใช้เลี้ยงเป็นบ่อสี่เหลี่ยมขนาด 1×1 , 2×2 , 2×3 เมตร สูง 1.2 เมตร หรือบ่อซีเมนต์กลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 หรือ 1.5 เมตร มีวัสดุปิดด้านบน เช่น กระเบื้องมุงหลังคา เพื่อป้องกันไม่ให้กบตกใจ เครียดหรือโดนแดด ในขณะเดียวกันก็สามารถเปิดให้ได้รับแสงแดดได้บ้าง
• ต้องเลี้ยงแยกเพศ แบ่งเป็นบ่อแม่พันธุ์และบ่อพ่อพันธุ์ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จึงนำมารวมกันเพื่อให้จับคู่
• ไม่ควรเลี้ยงกบหนาแน่นเกินไป อัตราการปล่อยที่เหมาะสม คือ 40 ตัวต่อตารางเมตร
• มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมอ และควบคุมไม่ให้น้ำเสีย
• ให้อาหารวันละ 1 – 2 ครั้ง เมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์ให้ลดปริมาณอาหารลง มิฉะนั้นกบจะอ้วนมีแต่ไขมัน ไม่มีไข่
• มีการให้วิตามินและแร่ธาตุผสมอาหารเพื่อบำรุงระบบสืบพันธุ์
ภาพ บ่อเพาะพันธุ์ลูกกบ ทั้งปี | ภาพ ลูกกบ กบเล็ก พร้อมขาย
บ่อที่ใช้ผสมพันธุ์และเลี้ยงกบ
• โดยทั่วไปแล้วบ่อเลี้ยงกบจะเป็นบ่อเอนกประสงค์ คือ ใช้ตั้งแต่ผสมพันธุ์ อนุบาลลูกอ๊อด อนุบาลลูกกบ จนถึงเลี้ยงกบขุนหรือกบเนื้อ
• บ่อเลี้ยงกบ มักเป็นบ่อซีเมนต์ มีหลายรูปแบบ เช่น ปูกระเบื้อง ทาสีเหลือง บ่อมีหลายขนาด เช่น 3×4 , 3.2×4 , 4×4 , 4×5 , 4×6 เมตร สูง 1.2 เมตร ขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ แต่ที่นิยมคือ 3×4 เมตร
• บ่อเลี้ยงจะมีการเทคานและใช้อิฐบล็อค 4 – 6 ก้อนก่อเป็นผนัง พื้นบ่อมีการเทปูนหนาพอสมควรเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึม ด้านในของบ่อทั้ง 4 ด้าน จะฉาบผิวสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร
• บ่อที่ใช้ผสมพันธุ์และอนุบาลลูกอ๊อด มักจะสร้างโดยมีเกาะตรงกลาง ซึ่งสูงประมาณ 1 คืบ และมีน้ำล้อมรอบด้านข้างทั้ง 4 ด้าน พื้นบ่อที่ในส่วนที่มีน้ำล้อมรอบจะลาดเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อสะดวกในการถ่ายเทน้ำ มีท่อระบายน้ำในส่วนที่ลาดที่สุด โดยมีท่อพลาสติกสวมตรงรูระบายน้ำหรือมีตะแกรงครอบตรงรูระบายน้ำ มีการฝังท่อจากรูระบายน้ำไปยังด้านข้างของบ่อเพื่อระบายน้ำทิ้ง และนำท่อพลาสติกงอมาสวมท่อที่ยื่นออกมา แล้วใช้ท่อพลาสติกตรงมาต่ออีกครั้งหนึ่ง
• บางพื้นที่บ่อกบที่ใช้ผสมพันธุ์ อนุบาลและเลี้ยงเป็นกบขุน พื้นบ่อจะเรียบและเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง มีการปูกระเบื้อง และมีท่อระบายน้ำอยู่ตรงส่วนที่ลาดที่สุด โดยช่วงลูกอ๊อดหางหดจะลดระดับน้ำลงและหาวัสดุที่ให้ลูกอ๊อดขึ้นไปอยู่ เช่น โฟม แผ่นพลาสติก ไม้ไผ่ ทางมะพร้าว เป็นต้น หรืออาจจะช้อนลูกกบที่ขึ้นแพแล้วไปเลี้ยงในบ่ออื่นที่เตรียมไว้สำหรับอนุบาลลูกกบโดยเฉพาะก็ได้
• บ่อกบควรตั้งอยู่กลางแจ้ง มีแสลนกรองแสงทำเป็นหลังคาและกันแดด รวมทั้งมีตาข่ายกันนกหรือศัตรูที่จะเข้ามาจับกินกบ ป้องกันกบตกใจ
การเพาะพันธุ์
• ล้างบ่อให้สะอาดที่สุด แล้วเติมน้ำในบ่อเพาะพันธุ์ ให้ได้ระดับ 5-7 เซนติเมตรหรือท่วมหลังกบ
• ใส่พืชน้ำ หรือหญ้า ลงไป ก่อนใส่ต้องนำมาทำความสะอาดด้วยด่างทับทิมก่อน
• นำกบตัวผู้และตัวเมียพร้อมที่จะผสมพันธุ์ปล่อยลงในบ่อเพาะพันธุ์ช่วงเย็นเพื่อให้กบเลือกคู่กัน โดยบ่อขนาด 3×4 เมตร สูง 1.2 เมตร จะปล่อยพ่อแม่พันธุ์ 4-5 คู่
• ในการผสมพันธุ์กบตัวผู้จะไล่เวียนกบตัวเมีย แล้วใช้ขาหน้าโอบรัดตัวเมีย ทางด้านหลัง เพื่อรีดให้ไข่ออกมา ขณะเดียวกันตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสมทันที
• โดยปกติกบจะผสมพันธุ์ในตอนกลางคืน รุ่งเช้าให้นำพ่อแม่พันธุ์ออกจากบ่อ ปล่อยให้ไข่ฟักออกมาเป็นตัว ซึ่งจะให้เวลา 18-36 ชม. แล้วรอจนไข่แดงหมดค่อยให้อาหารผงลูกอ๊อด หรือไข่ตุ๋น ก็ได้ จนอายุประมาณ 7 – 10 วันเริ่มให้อาหารเม็ดโฟมลอยน้ำให้กินต่อไปจนเป็นลูกกบเล็ก(หางหด)
• หลังจากผสมพันธุ์แล้วจะต้องเพิ่มระดับน้ำวันละ 5-7 เซนติเมตร จนสูง 30 เซนติเมตร เมื่อลูกอ๊อดหางหดจึงค่อยลดระดับน้ำลง
• ช่วงลูกอ๊อดบอายุ 20-30 วัน ต้องหาไม้กระดาน โฟม แผ่นพลาสติกลอยน้ำ ให้ลูกกบขึ้นไปอยู่
• ไข่ที่ฟักออกมาจะเจริญเติบโตเป็นลูกอ๊อด และพัฒนาเป็นลูกกบเล็กใช้เวลาประมาณ 30-36 วัน หรือ ประมาณ 1 เดือนเศษ
• ถ้าลูกอ๊อดตัวใดโตไว ต้องขยันคัดขนาดไปเลี้ยงแยกในบ่ออนุบาล เพื่อป้องกันลูกอ๊อดกัดกินขาลูกกบเล็ก หรือกัดกินกันเอง
แนวคิดและข้อแนะนำในการเพาะพันธุ์
• ในการเพาะเลี้ยงลูกอ๊อดช่วง 2 – 7 วัน ต้องหมั่นสังเกตุว่าน้ำจะเน่าเสียหรือไม่ ต้องใส่ใจอย่างมาก หรือมีเวลาอย่างเพียงพอในการอนุบาลลูกอ๊อดทั้งวัน
• ในการเพาะเลี้ยงลูกอ๊อด ห้ามปล่อยให้น้ำเน่าเสียเด็ดขาด เพราะลูกอ๊อดจะตายยกบ่อได้ภายใน 8 ชม. หากน้ำเน่าแล้วจะยากที่จะช่วยให้ลูกอ๊อดมีชีวิตรอดได้อีก
• ในการเพาะเลี้ยงลูกอ๊อดครั้งแรกๆ ผู้เพาะมักจะทำไม่สำเร็จ ลูกอ๊อดอาจจะตายยกคอก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ให้ค่อยๆหาสาเหตุว่าเกิดจากสิ่งใด และแก้ไขไปทีละอย่างจนหมด เพราะสภาพแวดล้อมในแต่ละจุดที่ใช้เพาะแตกต่างกัน จึงต้องดูให้เหมาะสมกับพื้นที่ของเรา อย่าเชื่อผู้อื่นมาก ให้ทดลองเองดีที่สุดครับ แล้วท่านจะเพาะได้สำเร็จในที่สุด
• อย่าใจร้อนให้ทดลองเพาะครั้งละน้อยๆ เพื่อศึกษาวิธีการอนุบาลจริง ให้เข้าใจและเหมาะสมกับพื้นที่ของท่าน ก่อนเพาะเป็นจำนวนมากๆ
• สำหรับผู้ที่จะเลี้ยงกบเพื่อเป็นอาชีพเสริม(เลี้ยงไม่เกินครั้งละ 5,000 ตัว) ให้เริ่มเลี้ยงช่วงปลายเดือนกันยายน ของทุกปี โดยซื้อลูกพันธุ์กบมาเลี้ยง จะสะดวกและคุ้มค่ากว่าการเลี้ยงพ่อพันธุ์กบ แม่พันธุ์กบ ไว้เพาะเอง เพราะไม่ต้องเสียเวลาดูแลพ่อแม่พันธุ์และไม่ต้องยุ่งยากในช่วงอนุบาลลูกอ๊อด
• ปกติการเพาะพันธุ์จำทำสำเร็จได้ง่ายในช่วงต้นฤดูฝน ถ้าปลายๆหรือต้นฤดูหนาวจะเพาะยากขึ้น จึงควรวางแผนให้ดีก่อนเพาะพันธุ์
ข้อสำคัญ พ่อพันธุ์กบ แม่พันธุ์กบ ของท่านจะต้องแข็งแรง ไม่อมโรค มิฉะนั้น เพาะพันธุ์ไปก็เสียเวลาครับ โอกาสรอดน้อยมากๆ
ต้นทุนการเพาะพันธุ์กบ เพื่อตัดสินใจว่า เพาะลูกกบไว้เลี้ยงเอง จะคุ้มค่ากว่าซื้อลูกพันธุ์กบที่อื่นมาเลี้ยง หรือไม่?
1. ต้นทุน พ่อพันธุ์กบ แม่พันธุ์กบ คู่ละ 350 – 700 บาท ตามขนาด อายุและฤดูกาล
(กบ 1 คู่ ไข่เฉลี่ย 1,000 ฟอง/ครั้ง ออกเป็นลูกอ๊อดเฉลี่ย 800 ตัว เลี้ยงรอดเป็นลูกกบเฉลี่ย 600 ตัว ถ้าท่านทำอย่างชำนาญแล้วนะครับ)
2. ต้นทุน สร้างสถานที่ใช้เลี้ยง พ่อพันธุ์กบ แม่พันธุ์กบ แบบแยกเพศ อย่างน้อยใช้บ่อปูนจำนวน 2 บ่อ
3. ต้นทุน ค่าอาหาร พ่อพันธุ์กบ แม่พันธุ์กบ ที่ต้องกินทุกวัน นอกจากนั้นยังต้องให้อาหารเสริมบำรุงระบบสืบพันธุ์อีกด้วย
4. ต้นทุน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเวลา ดูแลถ่ายน้ำ พ่อพันธุ์กบ แม่พันธุ์กบ
5. ต้นทุน กรณีเลี้ยงไม่ดี ทำให้ พ่อพันธุ์กบ แม่พันธุ์กบ ตาย หรือไม่ยอมออกไข่ หรือที่แย่ที่สุดคือ พ่อแม่พันธุ์ติดโรค ซึ่งจะต้องนำไปทำลายทิ้งทั้งหมด แล้วเริ่มต้นหาซื้อพ่อแม่พันธุ์กบมาใหม่ทั้งหมด ดังนั้น หากต้องการมีพ่อแม่พันธุ์สัก 200 คู่ จะต้องใช้เงินทุนอย่างน้อย 70,000 บาท เป็นต้น
6. ต้นทุน บ่อปูนสำหรับใช้เพาะพันธุ์ ตามวิธีด้านบน
7. ต้นทุน ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเวลา ดูแลถ่ายน้ำ ลูกอ๊อดเล็ก อายุ 2 – 25 วัน มักต้องถ่ายน้ำทุกๆวัน ต้องเฝ้าให้อาหาร และสังเกตอาการต่างๆ ตลอดทั้งวัน จนกว่าจะเริ่มมีขาและเป็นตัวลูกกบเล็ก
8. ต้นทุน การนั่งคัดขนาดลูกอ๊อดและลูกกบเล็ก เพื่อนำไปอนุบาลแยกตามขนาด ป้องกันลูกกบกัดกินกันเอง จนเกิดบาดแผล หรือตายได้
ฉะนั้น จงใตร่ตรองดูก่อนว่าการเพาะพันธุ์กบเลี้ยงเอง กับการซื้อลูกพันธุ์กบครั้งละไม่ถึงหมื่นตัว อย่างใดเหมาะสมกับท่านที่สุด
(จำนวนผู้เข้าชม 182,427 views)